ระบบเตือนภัยมีอยู่ทั่วประเทศ

ระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติล่วงหน้า (Early Warning System) ของประเทศไทย มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทำหน้าที่ดูแลและควบคุมระบบการทำงาน โดยระบบนี้ถือเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งทรัพยากรของชาติ ดังนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจึงดำเนินการติดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณและหอกระจายข่าวไว้ทั่วประเทศ

องค์ประกอบสำคัญของระบบเตือนภัยทางธรรมชาติ

ระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติของไทยมีอุปกรณ์ ระบบ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ระบบควบคุมการเตือนภัย

ติดตั้งอยู่ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีสำนักงานอยู่ที่ถนนสุขุมวิท เขตบางนา กรุงเทพฯ เป็นระบบทำหน้าที่ส่งสัญญาณเตือนภัยให้แก่สถานีรับสัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ และหอเตือนภัย รวมทั้งส่งคำเตือนพิบัติภัยให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

2. เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (EVAC)

มีจำนวน 163 ชุด ติดตั้งไว้ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดและศาลากลางจังหวัด ทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยแก่หน่วยราชการและประชาชนในจังหวัด

3. หอเตือนภัย

มีจำนวน 328 หอ ใน 62 จังหวัด ทำหน้าที่รับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม จากระบบควบคุมการเตือนภัย และแจ้งเตือนภัยประชาชนด้วยเสียงไซเรนรวมทั้งคำพูด

4. สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย

มีทั้งหมด 285 สถานี ใน 50 จังหวัด ติดตั้งไว้ที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือหน่วยงานราชการในตำบลที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ทำหน้าที่รับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียมและถ่ายทอดสัญญาณสู่เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยในท้องที่ รวมทั้งหอกระจายข่าวในชุมชน

5.หอกระจายข่าวชุมชน

มีทั้งหมด 674 หอ ติดตั้งไว้ยังชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ โดยรับและกระจายสัญญาณเตือนภัยด้วยคลื่นวิทยุ และกระจายเสียงรวมทั้งคำพูดเตือนภัย