เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หน่วยงานภาครัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยจะดำเนินการช่วยเหลือด้วยแผนการจัดการในภาวะฉุกเฉิน (Disaster Emergency Management) เพื่อความรวดเร็วและทันต่อความต้องการของผู้ประสบภัย โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานกำหนดตัวบุคคลผู้มีอำนาจสั่งการ
การรับมือกับภัยพิบัติแต่ละระดับ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในภาวะฉุกเฉินไว้ ดังนี้
ภัยพิบัติขนาดเล็ก
ให้ผู้อำนวยการอำเภอ หรือผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการ โดยให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล จัดตั้งศูนย์บัญชาการรับผิดชอบการบริหารจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ภัยพิบัติขนาดกลาง
ให้ผู้อำนวยการจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการ โดยให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการทำหน้าที่ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งแก้ปัญหาต่าง ๆ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ภัยพิบัติขนาดใหญ่
ให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติทำหน้าที่ควบคุมและบัญชาการ ทั้งนี้ หากจังหวัดที่ประสบภัยต้องการผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์พิเศษจากนอกพื้นที่ ก็สามารถทำหนังสือขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลางได้
ภัยพิบัติร้ายแรงอย่างยิ่ง
ภัยพิบัติร้ายแรงอย่างยิ่ง หมายถึงภัยพิบัติมีความรุนแรงระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ทำหน้าที่ควบคุมและบัญชาการ
ภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ
ภารกิจสำคัญส่วนหนึ่งที่หน่วยงานปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉินต้องดำเนินการ มีดังนี้
- จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
- จัดสถานที่ให้ผู้ประสบภัยพักอาศัย
- ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ทั่วถึง และรวดเร็ว
- สนับสนุนการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รื้อถอนซากปรักหักพัง และทำความสะอาดสถานที่ ตามที่ได้รับการร้องขอ
5. รายงานสถานการณ์และการปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือยุติลง