การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน

การปฏิบัติแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการบริหารจัดการหลังเกิดภัยพิบัติ คือ การจัดตั้งคณะทำงานโดยให้ชุมชนในพื้นที่เป็นแกนกลาง ซึ่งประเทศไทยมีการจัดตั้งเครือข่ายจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนครั้งแรกที่บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา หลังเกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานรัฐที่ให้การสนับสนุน

ส่งเสริมให้ชุมชนทำหน้าที่เอง

หลักการสำคัญของการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน คือ ส่งเสริมให้ชุมชนผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมตัวกันทำหน้าที่บริหารจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง ไล่ตั้งแต่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเฉพาะหน้า การฟื้นฟูชุมชน และการวางแผนรับมือภัยพิบัติ โดยบุคลากรที่เป็นสมาชิกเครือข่ายต้องมีการฝึกซ้อมทำหน้าที่เฝ้าระวังภัย และฝึกซ้อมการช่วยอพยพเป็นประจำ รวมทั้งต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการช่วยเหลือ นอกจากช่วยเหลือชุมชนของตนแล้ว ยังสามารถไปช่วยเหลือชุมชนอื่น ๆ ที่ประสบภัยพิบัติได้ด้วย

มีเครือข่ายและทำโครงการทั่วประเทศ

เท่าที่ผ่านมา มีการจัดตั้งเครือข่ายและทำโครงการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายภัยพิบัติชุมชนอันดามันในภาคใต้ 5 จังหวัด และโครงการศึกษาและอบรมตามวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 11 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นต้น โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนหลายหน่วยงานด้วยกัน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และศูนย์เทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ เป็นต้น